En | Th

การบริหารและจัดการความเสี่ยง

ปัจจัยความเสี่ยง

บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงว่าเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทฯ บรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้กำหนดให้นำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยที่คณะทำงานบริหารความเสี่ยงภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้ดำเนินการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของบริษัทฯ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก พิจารณากำหนดวิธีการตอบสนองต่อความเสี่ยง ทบทวนความเพียงพอของนโยบาย มาตรการและแนวทางในการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทฯ ยอมรับได้ และมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้พิจารณาติดตามและทบทวนผลการบริหารความเสี่ยงในภาพรวมของบริษัทฯ ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงประเภทต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ความเสี่ยงด้านการเงิน และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การประเมินความเสี่ยงได้กระทำโดยพิจารณาถึงความรุนแรงของผลกระทบ และโอกาสที่เหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้น โดยผลของการประเมินความเสี่ยงได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสูง กลาง และต่ำ สำหรับความเสี่ยงระดับสูงฝ่ายบริหารระดับสูงที่กำกับดูแลจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทันที ความเสี่ยงระดับกลางฝ่ายบริหารระดับสูงจะเป็นผู้กำหนดแผนบริหารความเสี่ยง และผู้บริหารระดับจัดการ จะเป็นผู้ควบคุมดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน ส่วนความเสี่ยงระดับต่ำนั้นผู้บริหารระดับจัดการจะเฝ้าติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกระบวนการปฏิบัติงานตามปกติของบริษัทฯ

สำหรับผลการประเมินทบทวนความเสี่ยง ในปี 2556 ที่ผ่านมานี้ พบว่าไม่มีรายการความเสี่ยงใดอยู่ในระดับสูง และ มีรายการความเสี่ยงที่อยู่ในระดับกลาง ดังต่อไปนี้

1. ความเสี่ยงด้านรายได้จากการร่วมลงทุน

จากการที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาธุรกิจ ในด้านของการรับเหมาครบวงจรควบคู่ไปกับการร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น เนื่องจากโครงการที่บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมลงทุนเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ดังนั้น จำนวนเงินลงทุน รายได้และกำไร จึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับขนาดของโครงการ หากเกิดความผิดพลาดใดๆ ในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องและทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารได้ทำการกลั่นกรอง คัดเลือกโครงการที่จะร่วมลงทุน และผู้ที่จะร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยก่อนที่บริษัทฯ จะเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการใดๆ นั้น บริษัทฯ จะทำการศึกษาและพิจารณาถึงบรรยากาศในการลงทุนความเป็นไปได้ของโครงการ ศักยภาพของโครงการรวมถึงผลตอบแทนจากโครงการว่าจะมีความมั่นคงและต่อเนื่องคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ บริษัทฯ จะต้องค้นหาและเปรียบเทียบเงื่อนไขของแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะคัดเลือกแหล่งเงินทุนที่มีเงื่อนไขเหมาะสมกับความต้องการของบริษัทมากที่สุดและจะต้องพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์ และสถานะทางการเงินของผู้ร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมที่บริษัทฯ จะร่วมลงทุนด้วยหรือไม่เพียงใด

2. ความเสี่ยงจากการรับงานโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

จากนโยบายของบริษัทฯ ในการรับงานโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หากเกิดความผิดพลาดใดๆ ในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ สถานะทางการเงินของบริษัทฯ อาจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการในต่างประเทศ เนื่องจากการดำเนินโครงการในต่างประเทศจะมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความไม่คุ้นเคยในการทำธุรกิจในสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมพื้นเมือง กฏหมายและระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่น ที่แตกต่างออกไป ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ก่อนที่บริษัทฯ จะเข้าร่วมประมูลในโครงการทุกโครงการ บริษัทฯ จะทำการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นและพยายามลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด

สำหรับการรับงานโครงการในต่างประเทศ บริษัทฯ มีนโยบายในการทำงานร่วมกับผู้รับเหมารายอื่นในประเทศนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่คุ้นเคยในการทำธุรกิจในสภาพแวดล้อมสังคม วัฒนธรรมพื้นเมือง กฏหมายและระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่น ที่แตกต่างออกไป ตลอดจนปัจจัยและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศนั้นๆ และบริษัทฯ ยังเน้นย้ำให้ผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ วางแผนงานให้รอบคอบรัดกุม และติดตามควบคุมการปฏิบัติงานตามแผนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการที่มีขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ผู้จัดการโครงการและผู้บริหารระดับจัดการที่รับผิดชอบ จะต้องจัดทำนโยบายการดำเนินโครงการและคำนึงถึงภาระทางการเงินโดยพยายามระบุช่วงเวลา และ ปริมาณของเงินตราที่ต้องการใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อสื่อสารให้ฝ่ายการเงินได้รับทราบล่วงหน้าและสามารถ บริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม

3. ความเสี่ยงจากระยะเวลาโครงการสั้น และ ความเสี่ยงจากการส่งมอบโครงการ ให้ลูกค้าไม่ทันตามกำหนด

ในธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหา และรับเหมาก่อสร้าง สัญญาจ้างงานโดยทั่วไปจะมีการกำหนดเวลาแล้วเสร็จและส่งมอบงานแก่ลูกค้าไว้ล่วงหน้า รวมทั้งกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งบทลงโทษส่วนใหญ่ คือ การจ่ายค่าปรับเพื่อชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการล่าช้า ทั้งนี้ ค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้าอาจมีมูลค่าที่แตกต่างกันในแต่ละสัญญา และส่งผลให้ต้นทุนสำหรับโครงการนั้นๆ เพิ่มสูงขึ้นจนผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดทุนได้ นอกจากนี้ การล่าช้าของโครงการยังอาจส่งผลให้ผู้ให้บริการรายนั้นๆ เสียชื่อเสียงและไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ารายอื่นๆ และทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จและการส่งมอบโครงการ ซึ่งในแต่ละโครงการจะใช้เวลาในการดำเนินงานไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าบริษัทฯ ได้ตกลงรับงานโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของระยะเวลาในการก่อสร้าง ก็อาจจะส่งผลกระทบให้บริษัทฯ ต้องประสบกับปัญหาการส่งมอบงานล่าช้า ซึ่งจะตามมาด้วยค่าปรับและค่าเสียหายต่างๆ อันจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และกำไรของบริษัทฯ ได้

บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรับดำเนินโครงการที่มีระยะเวลาสั้นเกินไป ดังนั้นในการรับงานแต่ละโครงการของบริษัทฯ นอกจากจะใช้ข้อมูลต่างๆ จากเจ้าของโครงการมาประเมินและกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการนั้น บริษัทฯ ยังจะต้องใช้ประสบการณ์ ความรู้และความสามารถของบริษัทฯ ที่จะประเมินระยะเวลาการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและจะต้องนำปัญหาต่างๆ ที่เคยพบ มาปรับปรุงแผนการดำเนินโครงการให้รอบคอบรัดกุมและเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินโครงการได้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในแผนงาน

นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้โครงการเสร็จสิ้นล่าช้ากว่ากำหนดการส่งมอบ อันอาจจะทำให้บริษัทฯ ผิดสัญญาและต้องจ่ายค่าปรับชดเชยความเสียหายนั้นอาจจะเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ อาทิ สภาพความซับซ้อนของโครงการ การบริหารจัดการโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความล่าช้าในการทำงานของผู้รับเหมาช่วง ความล่าช้าจากการส่งมอบเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้างของผู้ผลิต และ ปัญหาของสภาพอากาศที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ตามแผน

บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการส่งมอบโครงการไม่ทันตามกำหนด ไม่ว่าจะในด้านของค่าปรับหรือชื่อเสียง ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายวางแผนและบริหารงานโครงการของบริษัทฯ ทำการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานในแต่ละโครงการอย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าและความเป็นไปของแต่ละโครงการ ให้ผู้บริหารของบริษัทฯ รับทราบ ตลอดจนช่วยอำนวยการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทำให้การจัดการโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ความเสี่ยงจากการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์จากผู้ผลิตที่ไม่สามารถส่งมอบได้ตามคุณภาพและระยะเวลาตามข้อตกลงในสัญญา

สืบเนื่องจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกในปัจจุบัน ทำให้อาจเกิดผลกระทบกับผู้ผลิตที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือประกอบกิจการอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ ได้และบริษัทฯ อาจจะต้องประสบกับปัญหาจากการที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้ตามคุณภาพและระยะเวลาตามข้อตกลงในสัญญา และ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย บริษัทฯ มีความเห็นว่าความเสี่ยงจากเหตุดังกล่าวสามารถลดและควบคุมได้โดยการพิจารณา เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ ควบคุม สำหรับผู้ผลิตที่มีแนวโน้มว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้ตามคุณภาพและระยะเวลาตามข้อตกลงในสัญญา เช่น ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้ผลิต ผู้รับผิดชอบจะต้องนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของผู้ผลิตมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิต ร่วมกับการตรวจประเมิน ณ สถานที่ประกอบการของผู้ผลิต หรือการเพิ่มความถี่ในการควบคุมดูแลการผลิตตามช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม

5. ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้าง แล้ว ต้นทุนโครงการของบริษัทฯ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้จากความผันผวนของค่าเงิน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริษัทฯ ได้ใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงแบบ Natural Hedge หรือ บริษัทฯ อาจเข้าทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Currency Forward Contracts) กับสถาบันทางการเงินเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนมากแล้วสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าดังกล่าวจะมีอายุสัญญาไม่เกินหนึ่งปี โดยจะมีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะสำหรับการทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้านี้