En | Th

นโยบายหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักการการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ในเชิงรุกตามแนวปฏิบัติขององค์กรสากลชั้นนำ และเป็นช่องทางในการสื่อสารกับนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ซักถามตลอดจนรับทราบข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น ทางเว็บไซต์บริษัทฯ การจัด Road show กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการรายงานผลการดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบทุกสิ้นไตรมาส การทำสรุปผลการดำเนินงานเผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ การจัดให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุนเข้าเยี่ยมชมกิจการของบริษัทฯ พบปะผู้บริหาร เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

โดยการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น บริษัท ได้ยึดถือหลักการและแนวทางปฏิบัติ ตาม “จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์” จัดทำโดยฝ่ายพัฒนาธรรมาภิบาลเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2557 เป็นกรอบในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีมีประเด็นหรือปัญหาที่ยากต่อการพิจารณาตัดสินใจ นักลงทุนสัมพันธ์ควรพิจารณาหาทางเลือกที่ไม่ขัดต่อหลักการพื้นฐาน 4 ประการ อันได้แก่

  1. การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน อย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา
  2. การไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น
  3. การเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูล และสอบถามข้อมูลได้
  4. การปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต และหลักการของความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติบนอามิสสินจ้างใดๆ ที่เป็นเหตุจูงใจส่วนบุคคลและเอื้อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

แนวปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน

เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยให้นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทฯสามารถดำเนินงานกิจกรรมต่างๆและปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐาน จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังต่อไปนี้


  • นักลงทุนสัมพันธ์ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานทางการ เช่น สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลต่างๆ อย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยนักลงทุนสัมพันธ์สามารถปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าหรือเป็นข้อมูลที่อาจทำให้บริษัทเสียความสามารถในการแข่งขันได้
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรพิจารณาการให้ข้อมูลต่างๆให้มีความชัดเจนและมีรายละเอียดเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ เช่น การชี้แจงข้อมูลหรือเหตุผลที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 20 และ/หรือ ข้อมูลใน MD&A ควรมีคำอธิบายที่ชัดเจน ทำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขต่างๆ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณะ โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน
  • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเจตนารมย์ในการผลักดันให้มีการซื้อหุ้นของบริษัท
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรกำหนดช่องทางการเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ข้อมูลได้รับทราบอย่างเท่าเทียมกัน
  • นักลงทุนสัมพันธ์ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลภายในต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้บุคคลอื่นทราบจนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว
  • นักลงทุนสัมพันธ์ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดูแลข้อมูลภายในให้ถูกต้อง เช่น ข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน ควรมีการเปิดเผยผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทราบทั่วกันก่อนมีการเปิดเผยให้กับผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
  • กำหนดให้นักลงทุนสัมพันธ์ส่งประกาศแจ้งเตือนเรื่องช่วงเวลาห้ามซื้อ-ขายหุ้นของบริษัทฯแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
  • งดรับนัดหรือตอบคำถาม เกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตอันใกล้ให้แก่นักวิเคราะห์และ นักลงทุน (Quiet Period) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนเปิดเผยงบการเงิน
  • กรณีมีการจัดประชุมนักวิเคราะห์ก่อนประกาศงบการเงิน (Earnings Preview) นักลงทุนสัมพันธ์ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนช่วง Quiet Period และควรระมัดระวังในการให้ข้อมูล โดยต้องไม่ให้ข้อมูลใดๆ ที่มีข้อกำหนดห้ามเอาไว้ เช่น ตัวเลขประมาณการรายได้และกำไรของงวดการเงินนั้นๆ
  • นักลงทุนสัมพันธ์ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ รูปแบบกิจกรรมที่จัดให้บุคคลแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันได้ตามความเหมาะสม แต่ข้อมูลที่ให้ต้องเป็นข้อมูลที่เท่าเทียมกันและไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบหรือเสียโอกาสในการลงทุน
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียติดต่อและสอบถามข้อสงสัยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติที่จะติดต่อแต่เฉพาะบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรเปิดเผยข้อมูลที่นำเสนอในการประชุมเฉพาะกลุ่มให้สาธารณะรับทราบโดยทั่วกันและทันทีที่สามารถทำได้ เช่น การนำ Roadshow Presentation และ Analyst Presentation มา เผยแพร่บนเวบไซต์ของบริษัทภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นโดยเร็ว
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรใช้ความระมัดระวังในการสื่อสารข้อมูลผ่านทางเครือข่ายทางสังคม (Social Network) โดยนักลงทุนสัมพันธ์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้เข้าใจมุมมองของนักลงทุนได้ แต่หากพบประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและจำเป็นต้องชี้แจง นักลงทุนสัมพันธ์ควรแจ้งข้อมูลผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ดังนี้
    3.1. การปฏิบัติต่อนักลงทุน
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรปฏิบัติต่อนักลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใด
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรให้โอกาสแก่นักลงทุนรายย่อยได้เข้าถึงข้อมูลในระดับที่เท่าเทียมกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน
    • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรเลือกปฏิบัติในการรับนัดประชุม (One-on-One Meeting) กับ นักลงทุนสถาบันหรือกลุ่มนักลงทุน หากไม่สามารถรับนัดได้ทุกกลุ่ม นักลงทุนสัมพันธ์ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับนัดที่ชัดเจนและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
    • ในการจัดกิจกรรมให้แก่นักลงทุน เช่น การเยี่ยมชมกิจการและการพบปะนักลงทุน นักลงทุนสัมพันธ์ควรดำเนินการโดยพิจารณาถึงประโยชน์ของบริษัทและความคุ้มค่าของทรัพยากรที่จะใช้เป็นที่ตั้ง
    3.2. การปฏิบัติต่อนักวิเคราะห์
    • ในการจัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) นักลงทุนสัมพันธ์ควรเชิญและเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์จากทุกบริษัทหลักทรัพย์ได้เข้าร่วมอย่างเท่าเทียมกัน
    • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรให้สิ่งของตอบแทนหรือของขวัญแก่นักวิเคราะห์เพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวให้เขียนบทวิเคราะห์ให้แก่บริษัท และ/หรือ ให้เขียนบทวิเคราะห์ในเชิงบวกเท่านั้น
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรเคารพในผลงานและความเห็นของนักวิเคราะห์ แต่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้ หากเห็นว่า มีการใช้หรือให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
    3.3. การปฏิบัติต่อสื่อมวลชน
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลตามความเหมาะสม
    • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรใช้เงื่อนไขในการทำธุรกิจกับสื่อมวลชน เช่น การลงโฆษณาในสื่อ เพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหรือให้ความเห็นในเชิงบวกแก่บริษัท
    • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรให้สิ่งของตอบแทนหรือของขวัญแก่สื่อมวลชนเพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวให้สื่อมวลชนเขียนบทความหรือข่าวให้แก่บริษัทในเชิงสร้างข่าวที่ไม่เป็นจริง
    3.4. การปฏิบัติต่อหน่วยงานทางการ
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานทางการตามที่ถูกร้องขอ
    • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรให้ของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทางการเพื่อให้ความช่วยเหลือใดๆ เป็นกรณีพิเศษ
    3.5. การปฏิบัติต่อบุคคลภายในองค์กร
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรประสานงานให้ผู้บริหารของบริษัทได้พบปะกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตามโอกาสที่สมควร
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรรายงานให้คณะกรรมการและผู้บริหารได้รับทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร เช่น ผลการดำเนินกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ ความเห็นจากนักวิเคราะห์และนักลงทุน และข้อมูลความเคลื่อนไหวในตลาดทุน เป็นต้น
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรเป็นสื่อกลางของบริษัท ในการสื่อสารให้พนักงานในองค์กรได้รับทราบถึงจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับนักลงทุนสัมพันธ์ เช่น เรื่องการดูแลและรักษาข้อมูลภายใน เป็นต้น
    3.6. การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เช่น สถาบันการเงินและบริษัท Credit Rating
    • นักลงทุนสัมพันธ์ควรให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในระดับที่เท่าเทียมกัน ยกเว้นแต่มีความจำเป็นอื่นใดในการดำเนินธุรกิจ เช่น ต้องให้ข้อมูลภายในประกอบการขอสินเชื่อโครงการจากสถาบันการเงิน ในกรณีนี้ นักลงทุนสัมพันธ์ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและต้องขอให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลภายในลงนามในสัญญารักษาความลับไว้ด้วย
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆอันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท เช่น การใช้ทรัพย์สินหรือข้อมูลของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตน
  • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากความสัมพันธ์และข้อมูลที่ได้จากการทำหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ให้แก่บริษัท
  • นักลงทุนสัมพันธ์ต้องไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ในการเลือกดำเนินกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก เช่น การเลือกเข้าร่วม Roadshow กับเฉพาะบางบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษบางอย่าง เป็นต้น
  • นักลงทุนสัมพันธ์พึงปฏิบัติตามนโยบายและจรรยาบรรณพนักงานต่างๆ ตามที่บริษัทได้กำหนดไว้
  • นักลงทุนสัมพันธ์ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่และกิจกรรมที่เข้าร่วม
  • นักลงทุนสัมพันธ์ไม่ควรให้ข้อมูลในเชิงลบหรือให้ร้ายแก่บริษัทคู่แข่งหรือผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ
นโยบายหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ ดาวน์โหลด